วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ศีล 5

เบญจศีล หรือ ปัญจสีล แปลว่า ศีล ๕ เป็นศีลหรือข้อห้ามในลำดับเบื้องต้นตามพระโอวาทของพระพุทธโคดม พระศาสดาแห่งพุทธศาสนาพระองค์ปัจจุบัน แต่ทั้งนี้เบญจศีลเป็นหลักการที่มีมาและเป็นที่สั่งสอนทั่วไปก่อนพระพุทธโคดมอุบัติแล้ว



เบญจศีลเป็นหลักธรรมประจำสังคมมนุษย์ ในพิธีกรรมทั้งปวงแห่งพุทธศาสนา ภิกษุจึงนิยมกล่าวป็นภาษาบาลีมอบศีลที่ตนมีให้บุคคลร่วมรักษาด้วย เรียกว่า "ให้ศีล" และพุทธศาสนิกจักกล่าวรับปากว่าจะรักษาศีลหรือที่เรียกว่ากล่าว "รับศีล" ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ภิกษุเท่านั้นที่ให้ศีล ฆราวาสผู้รักษาศีลอยู่แล้วก็สามารถให้ศีลแก่บุคคลอื่นได้ด้วย


เบญจศีลเป็นข้อพึงปฏิบัติ คู่กับ "เบญจธรรม" อันเป็นข้อพึงปฏิบัติ การรักษาเบญจศีลให้บริบูรณ์ควรกระทำพร้อมกับรักษาเบญจธรรมด้วย แต่การรักษาเบญจศีลนี้มิใช่ข้อบังคับของพุทธศาสนิก เป็นคำแนะนำให้พึงยึดถือด้วยความสมัครใจเท่านั้น

องค์ประกอบ

เบญจศีลในพุทธศาสนาประกอบด้วยข้อห้ามห้าข้อเช่นที่ปรากฏในคำกล่าวรับศีล ดังต่อไปนี้ที่ ข้อห้าม คำแปล


๑. ปาณาติบาต ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการเบียดเบียนชีวิต


๒. อทินนาทาน อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้


๓. กาเมสุมิจฉาจาร กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการประพฤติไม่เหมาะสมทางเพศ


๔. มุสาวาท มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการกล่าวเท็จ


๕. สุราเมรยมัชปมาทัฏฐาน สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เพียงรู้จักว่าศีล ๕ ข้อมีอะไรบ้างเท่านั้น ยังไม่พอ ผู้รักษายังต้องรู้เลยไปถึงว่า ท่านวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างไรในการวินิจฉัยว่าทำอย่างไรแค่ไหนจึงล่วงศีล คือศีลขาด โดยใช้กฎเกณฑ์ในการวินิจฉัยที่

ท่านเรียกว่า องค์ของศีล เป็นเครื่องตัดสิน ถ้าครบองค์ของศีลข้อนั้นๆ ศีลข้อนั้นก็ขาด ถ้าไม่ครบองค์ที่วางไว้ ขาดไปหนึ่งหรือสองข้อ ถือว่าศีลไม่ขาด แต่ศีลก็เศร้าหมอง องค์ของศีลที่ท่านวางไว้จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้สำรวมระวังไม่ประมาท


ศีลข้อ ๑ มีองค์ ๕ คือ


๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต


๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต


๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า


๔. อุปกฺกโม เพียรเพื่อจะฆ่า


๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น


อรรถกถาบางแห่งใช้ว่า ปรปาโณ คือสัตว์อื่นที่มีชีวิต มิได้หมายถึงตัวเอง เพราะฉะนั้นการฆ่าตัวเองจึงไม่ล่วงกรรมบถ เพราะไม่ครบองค์ของศีลข้อนี้
ถ้าครบองค์ ๕ ศีลข้อ ๑ ก็ขาด ถ้าไม่ครบ ๕ ข้อ ศีลไม่ขาด แต่ก็เศร้าหมอง

โทษของศีลข้อ ๑ นี้ อย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างเบาทำให้อายุสั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์
ถึงกระนั้นโทษของการล่วงศีลข้อนี้ก็หนักเบาต่างกันด้วยร่างกายของสัตว์ ๑ ด้วยคุณของสัตว์ ๑ ด้วยเจตนา ๑ และด้วยความพยายาม ๑
กล่าวคือ ถ้าฆ่าสัตว์ใหญ่ โทษก็มาก ถ้าฆ่าสัตว์เล็ก โทษก็น้อย
ถ้าฆ่าสัตว์มีคุณมาก โทษก็หนักมาก ถ้าฆ่าสัตว์มีคุณน้อย โทษก็น้อยลดหลั่นกันลงไป
ถ้าเจตนา คือความจงใจแรง โทษก็แรง ถ้าเจตนาคือ ความจงใจอ่อน โทษก็น้อย
ความพยายามมากโทษก็มาก ความพยายามน้อยโทษก็น้อย
แต่อย่าได้คิดว่าเมื่อท่านฆ่าสัตว์เล็ก ทั้งมีคุณน้อย มีความจงใจอ่อน และมีความพยายามน้อย โทษก็น้อย คงจะไม่น่ากลัว อย่าลืมว่า บาปอกุศลนั้นถึงแม้จะเล็กน้อยก็ไม่ควรทำ เพราะเมื่อสำเร็จเป็น
กรรมแล้ว ย่อมพาไปอบายได้เช่นเดียวกับโทษหนักเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจไปอยู่ในอบายชั่วระยะเวลาอันสั้น ไม่ยาวนานเหมือนโทษหนัก เพราะฉะนั้นจึงควรสังวรระวังไม่ประมาทแม้โทษเพียงเล็กน้อย


ศีลข้อ ๒ มีองค์ ๕ คือ



๑. ปรปริคฺคหิตํ ของมีเจ้าของหวงแหน


๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา รู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน


๓. เถยฺยจิตฺตํ จิตคิดจะลัก ( ทั้งโดยคิดลักเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นลักแทน )


๔. อุปกฺกโม เพียรเพื่อจะลัก


๕. เตน หรณํ นำของมาด้วยความเพียรนั้น

ถ้าครบองค์ ๕ ศีลข้อสองนี้ก็ขาด


โทษของศีลข้อสองนี้ อย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบายเช่นเดียวกับศีลข้อ ๑ อย่างเบาทำให้ทรัพย์สมบัติพินาศไปเมื่อเกิดเป็นมนุษย์

ศีลข้อ ๓ มีองค์ ๔ คือ


๑. อคมนียวตฺถุ วัตถุที่ไม่ควรถึง (คือชาย หรือหญิงที่มีเจ้าของ หรือมีผู้คุ้มครองดูแลรักษา)


๒. ตสฺมึ เสวนจิตตํ จิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น


๓. เสวนปฺปโยโค พยายามที่จะเสพ


๔. มคฺเคน มคฺคปฺปฏิปตฺติ อธิวาสนํ ทำมรรคต่อมรรคให้ถึงกัน


ถ้าครบองค์ ๔ ที่วางไว้ ศีลข้อ ๓ นี้ก็ขาด


ศีลข้อนี้ขึ้นอยู่กับเจตนา และคุณของผู้ถูกล่วงด้วย กล่าวคือ ถ้าจงใจมากโทษก็หนัก ถ้าจงใจน้อยโทษก็น้อย ถ้าผู้ถูกล่วงเป็นผู้มีศีลโทษก็หนัก เช่นในสมัยพุทธกาล นันทมาณพล่วงเกินนางอุบลวรรณา
อรหันตเถรี โทษถึงธรณีสูบก่อนแล้วจึงตกนรกอเวจี


โทษของศีลข้อ ๓ นี้ อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย อย่างเบาทำให้มีศัตรู คู่เวร เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ (ในชาดกแสดงว่าทำให้เกิดเป็นกระเทย หรือเมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือมนุษย์แล้วต้องถูกตอน)


ศีลข้อ ๔ มีองค์ ๔ คือ


๑. อตถํ วตฺถุ เรื่องไม่จริง


๒. วิสํวาทนจิตฺตํ จิตคิดจะพูดให้ผิด


๓. ตชฺโช วายาโม พยายามพูดออกไป


๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น


ถ้าครบองค์ ๔ ที่วางไว้ ศีลข้อ ๔ ก็ขาด


โทษของศีลข้อ ๔ นี้ อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย อย่างเบาทำให้ถูกกล่าวตู่ด้วยคำที่ไม่เป็นจริง ในเมื่อเกิดเป็นมนุษย์

ศีลข้อ ๕ มีองค์ ๔ คือ


๑. มทนียํ ของทำให้เมามีสุราเป็นต้น


๒. ปาตุกมฺยตาจิตฺตํ จิตใคร่จะดื่ม


๓. ตชฺโช วายาโม พยายามดื่ม


๔. ปีตปฺปเวสนํ ดื่มให้ไหลล่วงลำคอเข้าไป


ถ้าครบองค์ ๔ ที่วางไว้ ศีลข้อที่ ๕ ก็ขาด


โทษของศีลข้อ ๕ นี้ อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย อย่างเบาทำให้เป็นบ้า ขาดสติ ในเมื่อเกิดเป็นมนุษย์

การรักษาศีล



การรักษาเบญจศีลสามารถกระทำได้สองวิธี ดังนี้


๑. สมาทานวิรัติ คือ สมาทานหรือขอรับศีลจากภิกษุ ซึ่งต่อมามีการพัฒนารูปแบบให้เป็นการกล่าวคำขอและคำรับศีล รวมทั้งมีคำสรุปอานิสงส์ของศีลด้วย ในอรรถกถาชาดก ปรากฏกตอนหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์เคยให้เบญจศีลแก่ยักษ์ด้วย นี้หมายความว่า มิใช่แต่ภิกษุเท่านั้น แม้คฤหัสถ์ที่มีศีลก็สามารถให้ศีลตามที่มีผู้ขอได้


๒. สัมปัตวิรัติ (บาลี: สมฺปตฺตวิรติ) คือ งดเว้นไม่ทำบาปขณะประสบกับสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ทำบาป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตรทีฆนิกาย มหาวรรค ว่า



ผู้มีศีลย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ


๑. ย่อมได้รับโภคทรัพย์ใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ ( ดังที่พระท่านแสดง


อานิสงส์ของศีลในเวลาให้ศีลว่า สีเลน โภคสมปทา )


๒. เกียรติศัพท์อันงามของผู้มีศีล ย่อมฟุ้งขจรไปไกล


๓. ผู้มีศีลเข้าไปสู่สมาคมใดๆ ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน


๔. ผู้มีศีลย่อมไม่หลงทำกาละ ( คือไม่หลงในเวลาตาย )


๕. ผู้มีศีล ตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ( สีเลน สุคตึ ยนฺติ )

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ศีล คือ อะไร ??

ศีล (บาลี: สีล) คือ ข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข เพื่อประโยชน์ขั้นพื้นฐานคือความสุขและไม่มีการเบียดเบียนกันในสังคม



ประโยชน์ของศีลในขั้นพื้นฐานคือทำให้กาย วาจา ใจ สงบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ง่ายในการทำสมาธิ ในระดับของบรรพชิต ศีลจะมีจำนวนมาก เพื่อกำกับให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรสามารถครองตนในสมณภาวะได้อย่างสมบูรณ์ และเอื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นสูงต่อไปได้


ความหมายของศีลนั้นแปลได้หลายความหมาย โดยศัพท์แปลว่า ความปกติกายวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ และยังมักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า "อธิศีลสิกขา" อันได้แก่ข้อปฏิบัติขั้นต้นเพื่อการฝึกตนในทางพระพุทธศาสนาด้วย.

ระดับของศีลในทางพระพุทธศาสนา



ศีล แบ่งเป็น 3 ระดับ คือจุลศีล (ศีลอย่างน้อย) ได้แก่ คหัฏฐศีลทั้ง 2 คือ ศีล5 และอาชีวัฏฐมกศีล มัชฌิมศีล (ศีลอย่างกลาง) ได้แก่ บรรพชาศีลทั้ง 2 คือได้แก่อัฏฐศีล และทสศีล มหาศีล (ศิลอย่างสูง) ได้แก่ อุปสมบททั้ง2 คือ ภิกษุณีวินัย และภิกษุวินัย


ปัญจศีล (ศีล 5) หรือเรียกว่านิจจศีล (คือถือเนื่องนิจจ์)


อาชีวัฏฐมกศีล (ศีลกุศลกรรมบท 10) หรือเรียกว่าอาทิพรหมจริยาศีล (หรือเรียกอีกอย่างว่า นวศีล)


อัฏฐศีล (ศีล 8) หรือเรียกว่าอุโบสถศีล (ศีลอุโบสถ)


ทสศีล (ศีล 10)


ภิกษุณีวินัย (ศีล 311)


ภิกษุวินัย (ศีล 227)

บ้านอิ่มบุญ